เมื่อวานนี้ (9 ม.ค.) มีข่าวที่สร้างความตระหนกให้กับคนทั้งโลกอีกครั้ง เมื่อ ลีออนดิออส คอสตริคิส (Leondios Kostrikis) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพจากมหาวิทยาลัยไซปรัส ประเทศไซปรัส รายงานว่า ตรวจพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ลูกผสม ระหว่างเชื้อสายพันธุ์เดลตา กับโอมิครอน เรียกว่า “เดลตาครอน (Deltacron)”
“ขณะนี้มีการติดเชื้อร่วมของโอมิครอนและเดลตา และเราพบว่าสายพันธุ์นี้เป็นการรวมกันของสองสายพันธุ์นี้” คอสตริคิสบอก
เขาให้เหตุผลว่า ที่เชื่อว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดจากการผสมกัน เนื่องจากมีการระบุลายเซ็นทางพันธุกรรมที่เหมือนโอมิครอนภายในจีโนมของสายพันธุ์เดลตา
คอสตริคิสและทีมวิจัยของเขาได้รายงานพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาครอนแล้ว 25 ราย โดยข้อมูลลำดับพันธุกรรมของผู้ติดเชื้อเดลตาครอนทั้ง 25 รายนี้ได้ถูกส่งไปยัง GISAID หรือฐานข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของไวรัสระหว่างประเทศแล้งเมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ คอสตริคิสเชื่อว่า อย่างไรสายพันธุ์ใหม่นี้จะถูกแทนที่ด้วยสายพันธุ์มิครอนที่มีศักยภาพในการแพร่เชื้อได้สูงกว่าอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม หลังสื่อทั่วโลกมีการรายงานการค้นพบนี้ของไซปรัสออกไป ก็มีเสียงแสดงความไม่เห็นด้วยจากผู้เชี่ยวชาญหลายคนทั่วโลก โดยระบุว่า “การค้นพบดังกล่าวเกิดจากความผิดพลาดในห้องแล็บ โดยเป็นการปนเปื้อนของไวรัสที่อยู่ในแล็บ”
ดร.ครูติกา คุปปาลี แพทย์โรคติดเชื้อที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวเพียงว่า “เดลตาครอนไม่มีอยู่จริง” โดยเธอเขียนข้อความบนทวิตเตอร์ว่า “เดลตาครอนไม่ใช่ของจริง และน่าจะเกิดจากการเรียงลำดับพันธุกรรมผิดพลาด จากการปนเปื้อนของชิ้นส่วนโอมิครอนในตัวอย่างสายพันธุ์เดลตาในห้องแล็บ”
ในขณะเดียวกัน ดร.ทอม พีค็อก นักไวรัสวิทยาจากอิมพีเรียลคอลเลจ สหราชอาณาจักร ผู้เชี่ยวชาญการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสระดับโลก กล่าวในทวิตเตอร์ว่า ลำดับพันธุกรรมของโควิด-19 เดลตาครอนที่สื่อต่าง ๆ ทั่วโลกรายงานออกไปแล้วนั้น มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดจากการปนเปื้อนระหว่างสารพันธุกรรมของโอมิครอนและเดลตาในห้องปฏิบัติการ เวลาถอดรหัสพันธุกรรมจึงมีรหัสปนกันออกมาเสมือนเกิดเป็นสายพันธุ์ลูกผสม
“และจากการนำเอาข้อมูลรหัสพันธุกรรมมาสร้างเป็นแผนภูมิวิวัฒนาการ Phylogenetic Tree พบว่าตัวอย่างผู้ติดเชื้อทั้ง 25 รายไม่ได้มาจากคลัสเตอร์เดียวกัน ซึ่งแปลก เพราะหากเป็นสายพันธุ์ลูกผสมเพิ่งเกิดใหม่ ยังไม่ระบาดเป็นวงกว้าง ควรจะอยู่ในคลัสเตอร์เดียวกัน” ดร.พีค็อกระบุ
เขาเสริมว่า ลำดับพันธุกรรมของเดลตาที่มีการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์อื่นปรากฏขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว เช่น การพบการกลายพันธุ์ของมิวในเดลตา ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเกิดขึ้น
ด้าน ศ.นิก โลแมน ผู้เชียวชาญด้านจีโนมของจุลินทรีย์จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม สหราชอาณาจักร ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา กล่าวว่า แม้ว่าการเกิดลูกผสมระหว่างเดลตาและโอมิครอนจะไม่ใช่เรื่องน่าแปลก แต่ก็เห็นพ้องกับผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นว่า การค้นพบเดลตาครอนของไซปรัสน่าจะเป็นข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในกระบวนการถอดรหัสพันธุกรรมจจีโนมของไวรัสมากกว่า
ขอบคุณที่มา : https://www.pptvhd36.com/